เมื่อพูดถึงเส้นผม ต้องยอมรับว่ามีความสำคัญต่อคนเรามาช้านาน ไม่ใช่แค่มีประโยชน์ทางด้านสุขภาพและความสวยงามเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าในแง่ของวัฒนธรรมและความเชื่อโบราณอีกด้วย โดยความเชื่อโบราณนั้น ศีรษะและเส้นผมถือเป็นพื้นที่พิเศษ เนื่องจากอยู่บนจุดสูงสุดของร่างกายและเป็นศูนย์รวมของ “ขวัญ” และ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ที่คอยคุ้มครองปกป้องอันตราย เราจึงไม่ควรไปแตะต้องศีรษะหรือเล่นเส้นผมใคร ไม่เช่นนั้นขวัญอาจกระเจิง ดังที่เรามักได้ยินกันว่า “ขวัญหาย”
นอกจากนั้นก็ยังมีความเชื่อหลากหลายในพื้นที่ต่างๆ แตกต่างกันไป เช่น ในชนพื้นเมืองอเมริกัน หญิงและชายไว้ผมยาวเพราะพวกเขาเชื่อว่าผมยิ่งยาวก็ยิ่งแสดงถึงความงอกงามทางจิตวิญญาณ และเมื่อไร้ผมยาวเมื่อใดก็จะเหมือนสูญสิ้นพลังและพละกำลัง เนื่องจากเส้นผมเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ รวมถึงสัมพันธ์กับระบบประสาทและสัญชาตญาณ
หรือในชนพื้นเมืองอเมริกันอีกหลายๆ เผ่า จะตัดผมเมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต เพราะเส้นผมที่ถูกตัดเป็นสัญลักษณ์ของวันเวลาที่พวกเขามีกับผู้ที่จากไป และผมที่ยาวต่อจากนั้นจะเปรียบเสมือนชีวิตหลังการสูญเสียที่ต้องดำเนินต่อไป แตกต่างจากความเชื่อของชาวจีน ที่เชื่อว่าเมื่อคนในครอบครัวจากไป จะต้องไว้ทุกข์ด้วยการไม่ตัดผมและหนวดเคราจนกว่าจะออกทุกข์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความทุกข์โศกหลังการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้ไม่ใส่ใจตนเองจนผมเผ้ายาวรุงรัง
แต่ในไทยนั้นเราจะไว้ทุกข์ด้วยการโกนผม ซึ่งสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลความเชื่อและประเพณีมาจากอินเดีย โดยมีหลักฐานเป็นจดหมายเหตุของโยสต์ สเคาเต็น เกี่ยวกับการโกนผมไว้ทุกข์ในสมัยอยุธยา ที่บันทึกไว้ว่า “เมื่อคนตายไปแล้วก็โกนผมห่อศพแล้วทำบุญให้ทานไปตามความเชื่อถือ แล้วก็เอาไปเผาในบริเวณวัด นอกจากนี้ก็ยังมีพิธีอื่นๆ อีก เช่น มีการร้องไห้อาลัยกัน ส่วนพวกญาติสนิทจะตัดผมของตน”
ส่วนในบันทึกของนิโกลาส์ แชรแวส ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า บิดามารดาและมิตรสหายของผู้ตายจะนุ่งขาวห่มขาว ภรรยาและญาติที่ใกล้ชิดก็นุ่งขาวและโกนศีรษะเกลี้ยง ยิ่งกว่านั้นในอดีตเรายังมีประเพณีโกนหัวไว้ทุกข์ทั้งแผ่นดิน โดยหากพระเจ้าแผ่นดินหรือพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จสวรรคต ราษฎรทั้งชายและหญิงจะต้องโกนศีรษะถวายอาลัยทั้งแผ่นดิน สืบมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ถูกยกเลิกไป
สำหรับความเชื่ออื่นๆ เกี่ยวกับเส้นผม ก็ยังมีเรื่องการเลือกวันที่ดีในการตัดผมเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิตอีกด้วย โดยแบ่งเป็นความเชื่อในแต่ละวัน ดังนี้
1. ตัดผมวันอาทิตย์ เชื่อว่าจะทำให้ผู้ตัดมีอายุยืน สุขภาพแข็งแรง
2. ตัดผมวันจันทร์ เชื่อว่าจะทำให้ผู้ตัดมีแต่โชคลาภ การค้าขายร่ำรวย
3. ตัดผมวันอังคาร เชื่อว่าจะทำให้ผู้ตัดมีศัตรูมาคิดร้าย
4. ตัดผมวันพุธ เชื่อว่าจะทำให้เกิดปากเสียงหรือมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นหรือคนในครอบครัว ซึ่งถือเป็นวันไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง
5. ตัดผมวันพฤหัสบดี เชื่อว่าจะทำให้เทวดาปกปักรักษา ไม่ให้มีภัยอันตรายมากล้ำกราย ซึ่งถือเป็นวันที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง
6. ตัดผมวันศุกร์ เชื่อว่าจะทำให้มีโชคลาภ ร่ำรวยเงินทอง การค้าขายดี
7. ตัดผมวันเสาร์ เชื่อว่าจะทำให้คิดการทำสิ่งใด มักได้ตามความประสงค์
จึงเห็นได้ว่าประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับเส้นผม มีความสำคัญกับคนเรามากมายจริงๆ แม้ทุกวันนี้ประเพณีบางอย่าง ความเชื่อบางเรื่อง อาจจะถูกยกเลิกหรือเลือนหายไป แต่เส้นผมก็ยังคงมีความสำคัญต่อร่างกายและสัมพันธ์กับจิตใจของคนเราอยู่เช่นเดิม
เราจึงดูแลทนุถนอมเส้นผมและเสริมสวยผมเป็นประจำเสมอมา...
อ่านบทความอื่นๆ คลิกเลย